สถานที่สำคัญภายในวัด


วัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งวัดหนึ่ง ในยุคต้นของสมัยอยุธยา ด้วยเป็นวัดที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๖ หลังจากทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี ๓ ปี วัดพุทไธศวรรย์นับจากแรกสร้างจนถึงปัจจุบัน จึงมีอายุรวมถึง ๖๕๔ ปี

ด้วยเหตุที่วัดพุทไธศวรรย์ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากสงครามไทยกับพม่าครั้งต่างๆ น้อยมากเมื่อเทียบกับวัดอื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่ภายในเกาะเมือง ดังนั้นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญส่วนใหญ่จึงยังคงสภาพดีอยู่ จะมีชำรุดเสียหายบ้าง ก็ด้วยสาเหตุของการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา สภาพของอาคารสถานที่ต่างๆ ทั้งภายในเขตพุทธาวาส และเขตสังฒวาส ของวัดพุทไธศวรรย์ ได้มีทั้งส่วนที่พัฒนาสร้างขึ้นใหม่ และส่วนที่บูรณะปฏิสังขรณ์จากของเดิมที่ชำรุดเสื่อมโทรมตามกาลเวลา ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่ยังคงสภาพเหลืออยู่ จึงมีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวิติศาสตร์ ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้

สถานที่สำคัญภายในวัดพุทไธศวรรย์ เช่น
๑. พระมหาธาตุ (ปรางค์ประธาน) องค์พระปรางค์ซึ่งเป็นประธานของวัด ตั้งหันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก อยู่บนฐานไฟทีที่รองรับไปถึงมณฑปที่อยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้อีก ๒ หลัง ลักษณะโดยทั่วไปขององค์พระปรางค์ได้รับอิทธิพลรูปแบบของสถาปัตยกรรมมาจาก ปราสาทขอม ซึ่งเปรียบประดุจเขาพระสุเมรุ หรือเขาไกรลาสที่ประทับของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ในการสร้างปราสาทตามคติเดิมของขอม ได้จำลองตัวอาคารหรือเรีอนธาตุซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งก็คือ วิมานของเทพเจ้า และมีเทพผู้รักษาทิศอยู่ครบทุกด้าน ประจำอยู่ตามทิศต่างๆ

พระมหาธาตุ หรือพระปรางค์ประธานองค์นี้ จะมีห้องพระครรภธาตุ ภายในมีพระเจดีย์ทรงปราสาทยอด ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีประวัติว่าได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นและมีอายุยืนยาวมาตลอด ระยะเวลา ๔๑๗ ปี ของความเป็นราชธานีกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์ซึ่งจัดเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งมาตั้งแต่ปฐมกษัตริย์อยุธยา ย่อมต้องได้รับการทำนุบำรุงองค์อื่นๆ ที่สร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันเพียงแต่ยังคงมีรูปแบบแผนผังที่ยังคง อยู่เท่านั้น

 

๒. พระระเบียง โดยรอบองค์พระมหาธาตุมีพระระเบียงล้อมรอบผนัง ด้านนอกทึบ ด้านในมีเสารับเครื่องบนหลังคาและชายคาเป็นระยะๆ ทำให้ไม่มีผนังทางด้านใน ที่ริมผนังด้านทึบมีพระพุทธรูปนั่งเรียงอยู่โดยรอบ หลักฐานที่เกี่ยวข้องในพระระเบียงรอบพระปรางค์ประธาน คงเป็นพระพุทธรูปที่นั่งเรียงรายอยู่โดยรอบ พระพุทธรูปเหล่านั้นแต่เดิมเป็นพระพุทธหินทราย ฉาบปูนและลงรักปิดทอง ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมลง ทำให้ปูนที่พอกกะเทาะหลุด พระพุทธรูปหินทรายซึ่งประกอบขึ้นด้วยหินทรายหลายชิ้นจึงตกหล่นและสูญหายไป พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคเงินบูรณะพระพุทธรูปที่ชำรุดเหล่านั้น ตามกำลังแห่งทรัพย์ที่ตนมีอยู่ ด้วยฝีมือช่างท้องถิ่น ทำให้พระพุทธรูปที่ซ่อมขึ้นใหม่มีลักษณะ เป็นไปตามกำลังทรัพย์และฝีมือของช่างปั้นที่รับปั้น ดังนั้น พุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่ออกมาจึงไม่เป็นที่น่าชื่นชมอันจะนำมาซึ่งความ ศรัทธาได้ ท่านพระครูภัทรกิจโสภณ (หลวงพ่อหวล) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสได้รวบรวมศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา ทำการบูรณะปั้นใหม่ขึ้นมาทั้งหมด เป็นแบบพิมพ์เดียวกัน โดยยึดเอาพุทธศิลปะแบบสุโขทัยเป็นหลัก

บนผนังระเบียงมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีภาพกิจกรรมบนฝาผนังรูปเรือนแก้ว ส่วนที่เป็นรัศมีด้านหลังพระพุทธรูปที่นั่งเรียงอยู่ในพระระเบียง ลักษณะของภาพจิตกรรมเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๕ ภาพนี้คงจะเขียนขึ้นมาเมื่อครั้งมีการซ่อมปฏิสังขรณ์พระปรางค์ครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑

 

๓. พระอุโบสถ อยู่ทางด้านตะวันตกของปรางค์ประธาน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ยาว ๓๒ เมตร กว้าง ๑๔ เมตร ฐานค่อนข้างตรงไม่แอ่นท้องสำเภาเหมือนอาคารในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในมีพระพุทธรูปสามองค์ขนาดใหญ่ที่บนฐานชุกชี ได้รับการปฏิสังขรณ์ลงรักปิดทองใหม่ แม้รูปแบบของประติมากรรมจะดูไม่ชัดเจนนัก ว่าเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ลักษณะของฐานพระพุทธรูปที่ทำเป็นบัวคว่ำบัวหงายอยู่บนฐานเขียงไม่สูงนั้น อาจสะท้อนให้เห็นได้ว่าพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ มีอายุเก่าไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลางราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑

โดยรอบพระอุโบสถทั้ง ๘ ทิศ มีใบเสมาหินชนวนขนาดใหญ่ และหนา (๑๒๗ x ๙๒ x ๒๓.๕ ซ.ม.) จำนวน ๘ คู่ ๑๖ ใบ ลักษณะใบเสมามีรูปสามเหลี่ยมที่คอกับท้องเสมา กับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ตะแคงครงอกเสมาด้วย ที่ฐานเสมาเป็นบัวตื้นๆ สันเสมาหนามากและคม ใบเสมาคงเป็นแบหินยานลังกาเหมือนสมัยสุโขทัยตอนต้น ใบเสมาลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ได้พบที่วัดมหาฐาตุ ราชบูรณะ และวัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมทำในสมัยอยุธยาตอนต้นทั้งสิ้น ส่วนใหญ่มักปักอยู่บนพื้นดิน

 

๔. วิหารพระพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ในเขต พุทธาวาส ลักษณะของพระวิหารมีลักษณะแอ่นท้องสำเภาเล็กน้อย เจาะช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมทางด้านยาวด้านละ ๓ ช่อง รวม ๖ ช่อง มีช่องประตูทางเข้า ๑ ช่อง เครื่องบนหลังคาหักพังไปหมดสิ้นแล้ว องค์พระพุทะไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตกตรงกับช่องประตูทางเข้าพอดี แม้พระพุทธไสยาสน์องค์นี้จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่แล้วก็ตาม แต่จากพุทธศิลป์และลักษณะรูปแบบของอาคาร อาจกำหนดอายุของพระพุทธไสยาสน์และพระวิหารหลังนี้ อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓

 

๕. ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขต พุทธาวาส เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย ๒ ชั้น ลักษณะอาคารเป็นทรงเรือสำเภา ขนาดความยาว ๗ ห้อง ชั้นบนมีประตูทางเข้า ๓ ประตู อยูทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ด้านละ ๑ ประตู มีหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมผื่นผ้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ๗ ช่อง ทิศตะวันตก ๖ ช่อง ภายในอาคารมีภาพจิตกรรมฝาผนังโดยรอบ ชั้นล่างของอาคารมีช่องประตูและหน้าต่างเหมือนกับขั้นบน แต่หน้าต่างมี ลักษณะเป็นซุ้มโค้งยอดแหลม

ภาพจิตกรรมในพระตำหนัก ทางด้านทิศเหนือหรือผนังด้านตัด เขียนเรื่องไตรภูมิโดยตอนบนสุดของผนังเขียนเป็นวิมารที่เรียงรายอยู่เป็นแถว ตลอดแนวผนั้งชั้นกลางเขียนเป็นเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบรรพต แม่น้ำนทีสีทันดร ทางด้านทิศตะวันตกเป็นภาพป่าหิมพานต์ และการกำเนิดของแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ๔ สาย ที่ไหลออกมาจากปาก ช้าง ม้า วัว และสิงห์ ตอนล่างของภาพแสดงขุมนรกต่างๆ ทางด้านทิศตะวันออกเป็นรูปพระเวสสันดร

ผนังทางด้านทิศตะวันตก เริ่มต้นทศชาติ เรื่องพระเตมีย์ชาดก จากทางมุมด้านทิศเหนือเรียงลำดับไปจนสุดผนังทางด้านทิศใต้
ผนังทางด้านทิศใต้ เขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งเหนือบัลลังก์ภายในซุ้มเรือนแก้ว มีมารซึ่งเป็นคนต่างชาติกำลังเข้ามาผจญ
ผนังทางด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระพุทธโฆษาจารย์ เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกา
ภาพต่่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นภาพจิตกรรมที่เขียนขึ้น ในสมัยอยุธยาตอนปลาย รัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งมีอายุอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๒๗๕-๒๓๑๐

๖. พระอนุสาวรีย์กษัตริย์ ๓ พระองค์ จัดสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยพระภัทรกิจโสภณ (หลวงพ่อหวล) เจ้าอาวาสวัดพุทไธศวรรย์ เพื่อเป็นสถานที่ให้ลูกหลานและคนรุ่นหลัง กราบไหว้ สักการะบูชา รำลึกถึงพระคุณของพระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้สร้างวัดพุทไธศวรรย์ (พระเจ้าอู่ทอง), พระมหากษัตริย์ผู้กู้ชาติ (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) และพระอนุชา (สมเด็จพระเอกาทศรถ)